ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อทำนายดัชนีมวลกาย กิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง

  • 02/06/2564 11:12
  • 7,041

Sport Science Weekly #6/2021 : Wellness Wednesday by Exercise Scientist

#Research

ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อทำนายดัชนีมวลกาย กิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง: วิธีการศึกษาระยะยาว (Pre‐schoolers fundamental movement skills predict BMI, physical activity, and sedentary behavior: A longitudinal study)

เป็นที่ทราบกันดีว่าทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน (Fundamental Movement Skills: FMS) เป็นพื้นฐานของกิจกรรมทางกาย ซึ่งมีการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการเคลื่อนไหวแบบมีการเคลื่อนที่ (Locomotor Skill) ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ในเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญต่อการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ ดังนั้น การพัฒนาทักษะทางกลไกของเด็กในช่วงแรก ผ่านชมรมกีฬา และกิจกรรมการสอนพลศึกษาในโรงเรียนจะช่วยกระตุ้นการพัฒนากิจกรรมทางกายตลอดชีวิต

          ที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาทดลองความสัมพันธ์ระยะยาวของทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในเด็กและเยาวชน กับผลลัพธ์เชิงสุขภาพ เช่น กิจกรรมทางกายและดัชนีมวลกายหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ยังขาดการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการทุกด้าน

Duncan และ คณะ (2021) จึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเด็กก่อนวัยเรียนของประเทศอังกฤษ เนื่องจากผลการศึกษาที่ผ่านมาได้ รายงานถึงระดับทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในเด็กอังกฤษที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ รวมถึงเด็กในช่วงอายุ 6-9 ปี ไม่ผ่านการประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน Test of Gross Motor Development 2 (TGMD-2)  4 ด้าน คือ การวิ่ง การกระโดด การขว้าง และการจับ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ในหลักสูตรพลศึกษาของประเทศอังกฤษ นอกจากนี้การศึกษาในกลุ่มเด็กประเทศอื่นนอกเหนือจากอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในระดับสูง จะมีการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รวมถึงรักษาระดับสมรรถภาพทางกายได้อย่างยาวนาน

ดังนั้น การพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน อาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางกายและการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี และอาจนำไปสู่แนวทางการออกแบบโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพต่อไป

          การวิจัยครั้งนี้มีสมมติฐาน คือ ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็กก่อนวัยเรียนในปัจจุบัน สามารถทำนาย ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน กิจกรรมทางกาย และดัชนีมวลกาย ในอนาคต ได้มากกว่า กิจกรรมทางกาย และดัชนีมวลกายในปัจจุบัน

#วัตถุประสงค์

เพื่อทำนายปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีมวลกาย กิจกรรมทางกาย และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ผ่านทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน(Fundamental Movement Skills: FMS) ของเด็กก่อนวัยเรียนในประเทศอังกฤษ

#ผู้เข้าร่วมงานวิจัย เด็กก่อนวัยเรียนของประเทศอังกฤษ (n=177) อายุ 4.0 ± 0.74 ปี ได้รับการประเมินการเคลื่อนไหวพื้นฐาน โดยใช้วิธีการ Test of Gross Motor Development 2 (TGMD-2) การวัดดัชนีมวลกายและการประเมินกิจกรรมทางกาย การเก็บข้อมูลทำในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม) และเก็บข้อมูลซ้ำเมื่อผ่านไป 1 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ในปีที่ 2 เหลือผู้เข้าร่วมวิจัย 91 คน (อายุ 5.0 ± 0.70 ปี)

#เครื่องมือวิจัย

1. การวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง

2. การทดสอบทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน Fundamental movement skills: FMS โดยใช้ Test of Gross Motor Development 2 (TGMD-2) ซึ่งประกอบด้วย

 - การประเมินทักษะการเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ (Locomotor Skills) 6 ทักษะ ได้แก่ การวิ่ง(run)  การกระโดด 2 ขา (jump) การกระโดดขาเดียว (hop) การกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง (leap) การวิ่งควบม้า (gallop) และ การวิ่งสไลด์ (slide)

- การประเมินทักษะการควบคุมวัตถุ (Object control) 6 ทักษะ ได้แก่ การจับ (catch) การขว้าง (throw)     การเตะ(kick) การเด้งลูกบอล (bounce) การตี (strike) และการกลิ้ง (roll)

โดยจะทำการประเมินทักษะละ 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีการบันทึกวิดีโอการทดสอบไว้ทั้งหมด โดยคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน (FMS) อยู่ระหว่าง 0-96 คะแนน โดยแบ่งเป็น ด้าน Locomotor (LC) skill 0-48 คะแนน และ ด้าน Object control (OC) skill 0-48 คะแนน ตามคู่มือและคำแนะนำของ the administration of the TGMD-2

3. การประเมินกิจกรรมทางกาย (Physical Activities: PA)

เพื่อตรวจสอบระยะเวลาที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง การมีกิจกรรมทางกายระดับเบา หรือกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก โดยใช้อุปกรณ์คือนาฬิกาข้อมือที่สามารถระบุกิจกรรมทางกาย ป็นเวลา 4 วัน แบ่งเป็น วันปกติ 2 วันและวันหยุดสุดสัปดาห์ 2 วัน อย่างน้อยวันละ 10 ชั่วโมง (6 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม) ซึ่งหากถอดนาฬิกาเกิน 20 นาที ค่าจะเป็นศูนย์ทันที

การแบ่งระดับกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน ใช้เกณฑ์ดังนี้

- พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary behavior) < 8.1 g/s

- ระดับเบา (Light) 8.2-9.3 g/s

- ระดับปานกลางถึงหนัก (Moderate and above) >9.3 g/s

ทำการประเมิน 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 1 ปี ใช้การวิเคราะห์สมการถดถอย (Regression analysis) ในการทำนายการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางกาย และดัชนีมวลกาย จากปัจจัยการเคลื่อนไหวพื้นฐานในปีที่ 1 และปีที่ 2

#ผลการวิจัยที่สำคัญ

ในปีที่ 1 ผู้เข้าร่วม 177 คน ประกอบด้วย เด็กชาย 96 คน และเด็กหญิง 81 คน  อายุเฉลี่ย 4.46 ± 0.75 ปี

BMI เฉลี่ยเท่ากับ 16.1 ± 1.7 kg/m2

ในปีที่ 2 เหลือผู้เข้าร่วม 91 คน ประกอบด้วย เด็กชาย 54 คน และเด็กหญิง 37 คน อายุเฉลี่ย 5.42 ± 0.70 ปี

BMI เฉลี่ยเท่ากับ 16.2 ± 2.4 kg/m2

           สรุปผลรวมเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง (ปีที่ 1 n = 177, ปีที่ 2 n = 91) พบว่า ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในปีที่ 1 การกระโดด และการสไลด์ สามารถทำนายดัชนีมวลกายในปีที่ 2  ได้ถึง 12.3% และทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในปีที่ 2  การวิ่ง การขว้าง การเลี้ยงลูกบาสฯ และการเตะ ทำนายพฤติกรรมเนือยนิ่งในปีที่ 2  ได้ถึง 46.1 % (รายละเอียดตามตารางที่ 1)

สรุปผลรวมเฉพาะเด็กผู้ชาย (ปีที่ 1 n = 96, ปีที่ 2 n = 54) พบว่า ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานปีที่ 2 การวิ่งและการเตะ สามารถทำนายดัชนีมวลกายในปีที่ 2 ได้ถึง 48.6 % และทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานปีที่ 2 การวิ่ง การเลี้ยงลูกบาสฯ และการเตะ ทำนายพฤติกรรมเนือยนิ่งในปีที่ 2 ได้ถึง 51.2 % (รายละเอียดตามตารางที่ 2)

#สรุปผลการวิจัย

ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 4 ปี สามารถทำนายดัชนีมวลกาย และระยะเวลาที่ใช้กับพฤติกรรมเนือยนิ่ง เมื่อเด็กอายุ 5 ปี ได้ ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้ต้องการเน้นย้ำให้ครูพลศึกษาและผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนอย่างจริงจัง เช่น การวิ่ง การขว้าง การเลี้ยงลูกบอล การเตะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเยาวชนของชาติ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะด้านดัชนีมวลกาย (BMI) และกิจกรรมทางกาย

 

#Original_article

Duncan, M. J., Hall, C., Eyre, E., Barnett, L. M., & James, R. S. (2021). Pre‐schoolers fundamental movement skills predict BMI, physical activity, and sedentary behavior: A longitudinal study. Scandinavian Journal of Medicine & Science in Sports31, 8-14. https://doi.org/10.1111/sms.13746.

 

#สรุปและเรียบเรียง โดย

นายอภิรมย์ อาทิตย์ตั้ง นักพัฒนาการกีฬาปฏิบัติการ

กลุ่มพัฒนาสมรรถภาพทางกาย

สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา