ประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็ก

  • 16/06/2564 15:43
  • 4,034

Sport Science Weekly #11/2021 : Wellness Wednesday by Exercise Scientist

#ประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็ก

เด็กอายุระหว่าง 3 – 10 ปี เป็นช่วงวัยสำคัญที่ควรเสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน โดยกระตุ้นให้เกิดการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ รายงานจากหลายประเทศพบว่า เด็กมีการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่เพียงพอ และมีพัฒนาการไม่เหมาะสมกับช่วงวัยตนเอง

วันนี้ Sport Science Weekly ขอนำเสนอเครื่องมือชื่อว่า การทดสอบพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (the Test of Gross Motor Development: TGMD) ใช้สำหรับประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของเด็ก เหมาะกับครูพลศึกษา นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ประเมินพัฒนาการเด็กปกติ และเด็กพิเศษที่มีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว อันจะนำไปสู่การออกแบบ และวางแผนโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการต่อไป

Dale A. Ulrich (1985; 2017) จาก University of Michigan สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1985 และมีการปรับปรุงต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันเป็นการพัฒนาครั้งที่ 3 (the Test of Gross Motor Development-Third Edition (TGMD-3), 2017) ประกอบด้วย การประเมิน 13 ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน (รายละเอียดดังภาพประกอบ)

#วิธีการประเมิน ให้เด็กแสดงทักษะต่างๆ อย่างละ 2 ครั้ง โดยมีการบันทึกวิดีโอสำหรับให้คะแนน ผู้ประเมินต้องสังเกต และให้คะแนนตามเกณฑ์คุณภาพของการแสดงทักษะในใบบันทึก ซึ่งคะแนนแต่ละทักษะมีคะแนนเต็ม ตั้งแต่ 3-5 คะแนน

👉ตัวอย่างการทดสอบ https://www.youtube.com/watch?v=0FbQN0P8mpw

👉ตัวอย่างการประเมินให้คะแนน https://www.youtube.com/watch?v=JuVFNYwLEcI

เด็ก และเยาวชนที่ทดสอบโดยใช้ TGMD-3 สามารถเทียบผลจากเกณฑ์มาตรฐาน เทียบตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile Rank) และเทียบระดับทักษะที่เหมาะสมตามช่วงวัยได้ อีกทั้งคะแนนรวมยังสามารถนำไปเทียบระดับพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Quotient: GMQ) ว่าเหมาะสมตามอายุของเด็กหรือไม่ มีพัฒนาการช้า หรือบกพร่องด้านใด ซึ่งจะช่วยให้ครู และผู้ปกครองวางแผนการพัฒนาเด็กได้ทันเวลาและเหมาะสม ตรงตามสภาพของเด็กต่อไป

สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในวงการพลศึกษา การศึกษาปฐมวัย การวิจัยด้านพัฒนาการเด็ก และผู้เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ ควรนำ TGMD-3 มาศึกษาประยุกต์ใช้กับบริบทของเด็กและเยาวชนไทยทั้งในกลุ่มเด็กปกติและเด็กพิเศษ

ในวันพุธหน้าจะนำเสนอตัวอย่างการประยุกต์ใช้ TGMD-3 ในประเทศต่างๆ รอติดตามชมนะครับ

รายละเอียดเพิ่มเติม TGMD-3: https://sites.google.com/view/tgmd-3/general-information

#Original_article

Dale A. Ulrich. (2017). Introduction to the Special Section: Evaluation of the Psychometric Properties of the TGMD-3. Journal of Motor Learning and Development, 2017, 5, 1 -4 https://doi.org/10.1123/jmld.2017-0020

#สรุปและเรียบเรียง

นายอภิรมย์ อาทิตย์ตั้ง นักพัฒนาการกีฬาปฏิบัติการ

กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา