Goal Scoring Patterns : การทำประตูของ 5 ลีกดังแห่งยุโรป

  • 17/06/2564 11:17
  • 1,040

Sport Science Weelkly #17/2021 : Thursday Sport Science Research

#GoalScoringPatterns : การทำประตูของ 5 ลีกดังแห่งยุโรป

ยังคงอยู่ในกระแสของกีฬาฟุตบอล ซึ่งกำลังทำการแข่งขันกันอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป Euro 2020 การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้ Copa America 2020 หรือแม้กระทั่งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย

และหากมองดูสถิติของทีมที่ชนะ จะมีตัวชี้วัดหนึ่งที่เชื่อมโยงกับผลการแข่งขันได้ นั่นคือ สถิติการพยายามเข้าทำประตู (Attempts) ซึ่งมีรูปแบบการเล่นเพื่อสร้างโอกาสการเข้าทำประตูที่หลาย และส่งผลต่อลักษณะการทำประตูที่แตกต่างกันออกไป วันนี้ Sport Science Weekly มีข้อมูลของการเปรียบเทียบลักษณะของการได้ประตูในการแข่งขันฟุตบอลมากฝากครับ ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว มาดูกันเลยครับว่าจะน่าสนใจอย่างไร

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา นี้ได้ทำการสำรวจและเปรียบเทียบลักษณะรูปแบบการได้ประตูจากการแข่งขันฟุตบอลในลีกชั้นนำของทวีปยุโรป จำนวน 5 ลีก ได้แก่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ (English Premier League : EPL) ลีกเอิง ฝรั่งเศส (French Ligue 1) บุนเดสลีกา เยอรมัน (German Bundesliga) กัลโช่ ซีเรีย เอ อิตาลี (Italian Serie A) และ ลาลีกา สเปน (Spanish La Liga) ตลอด 10 ฤดูกาล (2009/2010 – 2018/2019) และพบว่า

#รูปแบบการทำประตู

⚽ บุนเดสลีกา เยอรมัน มีจำนวนการได้ประตูจากการโต้กลับเร็ว (Counterattack) และการเตะฟรีคิกโดยอ้อม (Indirect free kick) มากที่สุด

⚽ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ มีแนวโน้มได้ประตูจากการเล่นลูกเตะมุม (Corner) และการทำเข้าประตูตัวเอง (Own-goal) มากที่สุด

⚽ กัลโช่ ซีเรีย เอ อิตาลี มีสัดส่วนการได้ประตูจากการยิงลูกจุดโทษ (Penalty) มากที่สุด

⚽ ลาลีกา สเปน มีการได้ประตูจากการส่งลูกเข้าเล่นโดยการทุ่มบอล (Throw-in) มากที่สุด มีการต่อบอลที่แม่นยำและยอดเยี่ยมเพื่อเข้าทำประตู

⚽ ลีกเอิง ฝรั่งเศส มีการทำประตูได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ 4 ลีก

ความแตกต่างทางสถิติเหล่านี้ อาจมีผลมาจากคุณภาพการแข่งขันของแต่ละลีก ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้เล่น กลยุทธ์ของผู้จัดการทีม รวมถึงคุณภาพการตัดสินของผู้ตัดสิน การแข่งขันฟุตบอลในทุกระดับ หากมีการนำสถิติของการแข่งขันวิเคราะห์ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพของการแข่งขันในลีกนั้นๆ และส่งผลต่อคุณภาพของผู้เล่นในระดับชาติอีกด้วย ผมเชื่อว่าหากประเทศไทยของเรามีการศึกษาข้อมูลทางสถิติของการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก และนำมาพัฒนาวงการฟุตบอล คงช่วยยกระดับให้ #ฟุตบอลไทย ของเราแข็งแกร่งขึ้นอีกก็เป็นได้

* ยืนบนไหล่ยักษ์ มักจะเห็นอะไรที่กว้างกว่า *

“..Knowledge is power. Knowledge shared is power multiplied..”

“..ความรู้ คือ พลัง แต่การแบ่งปันความรู้ คือ พลังที่ยิ่งใหญ่กว่า..”

#OriginalArticle : Li, C., & Zhao, Y. (2020). Comparison of Goal Scoring Patterns in “The Big Five” European Football Leagues. Frontiers in Psychology, 11.

ขอขอบคุณภาพจาก

https://www.pinpng.com/.../hiomihT_robert-lewandowski.../

https://twitter.com/utdreport/status/1344040984997462017

http://www.pngall.com/lionel-messi-png/download/51801

https://wallpapersafari.com/w/IFJev6

https://www.seekpng.com/.../u2t4r5r5w7w7o0t4_free-png.../

#สรุปและเรียบเรียงโดย

นายธิติวัฒน์ น้อยคำเมือง นักพัฒนาการกีฬาชำนาญการ

กลุ่มวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา