Digital Application ใหม่ เพื่อส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในเด็กอายุ 3-6 ปี

  • 17/06/2564 10:56
  • 416

Sport Science Weekly #16/2021 : Wellness Wednesday by Exercise Scientist
#ดิจิตอลแอปพลิเคชันใหม่ ส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในเด็กอายุ 3-6 ปี
ในปัจจุบันเด็กมีความคุ้นเคยกับการใช้งานแอปพลิเคชันมากขึ้น จะดีแค่ไหนถ้าแอปพลิเคชันนั้นช่วยให้เด็กมีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานดีขึ้น นักวิจัยของ University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย จึงได้ร่วมกันสร้าง แอปพลิเคชันที่ติดตั้งในมือถือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ชื่อ Moovosity™ ซึ่งรวบรวมสื่อวิดีโอเกมที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของเด็กก่อนวัยเรียน ส่งเสริมให้เด็กและผู้ปกครองมีกิจกรรมทางกายร่วมกัน
#วิธีการใช้งานแอปพลิเคชัน
1) ดาวน์โหลด Moovosity™ ลงในโทรศัพท์มือถือ
2) ผู้ปกครองและเด็กร่วมกันเลือกเกมที่ต้องการจะเล่น ศึกษาวิดีโอตัวอย่างเกมการเคลื่อนไหวแล้วนำไปเล่นกับเด็กในพื้นที่ที่สะดวก
3) ทำการกดปุ่ม Let’s go เพื่อเริ่มเล่นเกมและจับเวลา แต่ละเกมจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที
4) เมื่อเด็กการเล่นเสร็จสิ้นให้ผู้ปกครอง กดหยุดเวลา ระบบจะคำนวนว่าเด็กใช้เวลาทำกิจกรรมทางกายไปกี่นาที เพื่อเทียบเป็นคะแนนและรางวัลต่อไป (ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก (WHO) เด็กวัยนี้ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาที/วัน เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ)
#การวิจัยได้ทดลองใช้แอปพลิเคชัน
เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-6 ปี จำนวน 34 คน โดยแบ่งเป็น กลุ่มทดลอง 17 คน (ใช้แอปพลิเคชันร่วมกับผู้ปกครอง 8 สัปดาห์) และกลุ่มควบคุม 17 คน (รอใช้แอปพลิเคชัน) ในกลุ่มทดลอง ผู้ปกครองและเด็กใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งเป็นรูปแบบเกมการเคลื่อนไหว 5 ด้าน ดังนี้
1) ด้านสมรรถภาพทางกาย (Fitness)
2) ด้านกิจกรรมเข้าจังหวะ (Rhythm)
3) ด้านความคล่องแคล่วว่องไว (Agility)
4) ด้านการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย (Coordination)
5) ด้านการทรงตัว (Balance)
การเคลื่อนไหวแต่ละด้านประกอบด้วย 5 – 6 เกม รวมทั้งหมด 27 เกม (ดังตัวอย่างในภาพประกอบ)
#วิธีการประเมินผลการวิจัย ก่อนและหลังการทดลอง
1. ประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานโดยใช้ Test of Gross Motor Development (TGMD-2)
2. วัดระดับกิจกรรมทางกายด้วยแบบสอบถาม 3. ประเมินการสนับสนุนจากผู้ปกครองด้วยแบบสอบถาม
#ผลการศึกษา
พบว่า เด็กกลุ่มทดลองที่ใช้แอปพลิเคชันร่วมกับผู้ปกครองมีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม อีกทั้งเด็กมีความสนุกสนาน มีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง นำไปสู่พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Quotient: GMQ) การศึกษาต่อไปควรเพิ่มกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น และหาความสัมพันธ์กับระดับกิจกรรมทางกายของเด็ก
#Download สำหรับครู ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจท่านใดต้องการทดลองใช้ สามารถดาวน์โหลดได้ ซึ่งปัจจุบันอาจมีการปรับปรุงกิจกรรมเล็กน้อย ข้อมูลเพิ่มเติม https://moovosity.com.au/
#Original_article
Trost, S. G., & Brookes, D. S. (2020). Effectiveness of a novel digital application to promote fundamental movement skills in 3-to 6-year-old children: A randomized controlled trial. Journal of Sports Sciences, 1-7. https://doi.org/10.1080/02640414.2020.1826657.
#สรุปและเรียบเรียง
โดย นายอภิรมย์ อาทิตย์ตั้ง
นักพัฒนาการกีฬาปฏิบัติการ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา