ฝึกวิ่งเท้าเปล่าในเด็ก ส่งผลดีต่อทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน

  • 01/07/2564 09:41
  • 578

Sport Science Weekly #26/2021 : Wellness Wednesday by Exercise Scientist

#ฝึกวิ่งเท้าเปล่าในเด็ก ส่งผลดีต่อทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน

กรณีศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น: ผลระยะยาวของการใช้โปรแกรมการวิ่งเท้าเปล่าสำหรับเด็กในโรงเรียนที่มีต่อรูปแบบการวิ่งเร็ว (Sprinting Biomechanics)

#การวิ่ง ถือเป็นทักษะพื้นฐาน การเคลื่อนไหวที่สำคัญสำหรับเด็ก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การวิ่งที่ถูกต้องจะส่งผลต่อการเล่นกีฬา การออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ในอนาคต

#ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานในเด็กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทักษะการวิ่งด้วยเท้าเปล่า ซึ่งนักวิจัยจาก University of Tsukuba ได้ทำการศึกษาผลระยะยาวของการใช้โปรแกรมการวิ่งเท้าเปล่าสำหรับเด็กในโรงเรียน เป็นระยะเวลา 4 ปี กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กนักเรียน อายุ 10-12 ปี แบ่งเป็นกลุ่มฝึกด้วยโปรแกรมวิ่งเท้าเปล่า จำนวน 101 คน (วิ่งเร็วด้วยเท้าเปล่าในลู่วิ่งดินกลางแจ้ง อย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน ทุกเช้าในวันที่มาโรงเรียน) และกลุ่มฝึกด้วยการใส่รองเท้าวิ่งตามปกติ จำนวน 93 คน เปรียบเทียบผลด้วยการประเมินรูปแบบการวิ่งผ่านกล้องความเร็วสูง (ตามภาพประกอบ) และ ความสามารถของการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ (Stretch Shorten Cycle: SSC) ด้วยการกระโดด ประกอบด้วย RJ: Five repeated-rebound jumping, RSI: Reactive strength index, CMJ: Counter movement jump

#ผลการศึกษา พบว่า เด็กกลุ่มฝึกด้วยโปรแกรมวิ่งเท้าเปล่า มีรูปแบบการวิ่งเร็วที่ถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์ของการวิ่งเร็ว ดังนี้ 1) ขณะวิ่งเร็วมีรูปแบบการวางเท้าบริเวณปลายเท้าและกลางเท้า 2) ขณะวิ่งใช้เท้าสัมผัสพื้นด้วยระยะเวลาที่สั้น 3) ขณะวิ่งมีช่วงที่ลอยตัวในอากาศได้นาน และ 4) กระโดดได้สูง และเมื่อกระโดดซ้ำๆ สามารถใช้เท้าสัมผัสพื้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ หมายถึง เด็กมีความสามารถของการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อขาที่ดี

#โดยสรุป การศึกษาโปรแกรมการวิ่งเท้าเปล่าสำหรับเด็กในโรงเรียนที่ญี่ปุ่น ส่งผลช่วยให้เด็กมีทักษะการวิ่งเร็วและการกระโดดได้ดี ซึ่งเป็นทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานอย่างหนึ่งที่สำคัญ ในการนำไปสู่การเล่นกีฬา และการออกกำลังกายที่ถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์ต่อไป ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเด็กช่วงอายุอื่นๆ หรือกลุ่มเด็กที่มีกิจกรรมทางกายแตกต่างกัน

* ยืนบนไหล่ยักษ์ มักจะเห็นอะไรที่กว้างกว่า *

“..Knowledge is power. Knowledge shared is power multiplied..”

“..ความรู้ คือ พลัง แต่การแบ่งปันความรู้ คือ พลังที่ยิ่งใหญ่กว่า..”

#OriginalArticle : Jun Mizushima, Justin W.L. Keogh, Kei Maeda, Atsushi Shibata, Jun Kaneko, Keigo Ohyama-Byun, Mitsugi Ogata. (2021). Long-term effects of school barefoot running program on sprinting biomechanics in children: A case-control study. Gait & Posture (83) 9–14 https://doi.org/10.1016/j.gaitpost.2020.09.026

#สรุปและเรียบเรียง โดย

นายอภิรมย์ อาทิตย์ตั้ง นักพัฒนาการกีฬาปฏิบัติการ

กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา